เตาหุงต้มเหนี่ยวนำความร้อน หรือเตาแม่เหล็กไฟฟ้า

Induction cooker

กำลังปรับปรุงเนื้อหา
        บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลการทำงานของเตาหุงต้มเหนี่ยวนำความร้อน ที่พิกัดกำลังไฟฟ้าทางด้านอินพุตขนาด 1 กิโลวัตต์ โดยใช้อุปกรณ์ในการสวิตซ์เป็นไอจีบีทีเพียงตัวเดียว  ในส่วนของการควบคุมใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC ในการสร้างสัญญาณ CCP ขับไอจีบีที และใช้ในส่วนของการป้องกันกระแสเกินและอุณหภูมิที่สูงเกิน  การปรับกำลังไฟฟ้าทางด้านเอาท์พุตใช้การควบคุมด้วยการปรับความถี่และการปรับค่าดิวตี้ไซเคิลที่ไมโครคอนโทรลเลอร์  จากการทดลอง ได้ทำการทดสอบโดยการใช้ภาชนะสแตนเลสสตีล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร พบว่าการทำงานของเครื่องมีประสิทธิภาพรวมที่ 80.18% ค่าผลรวมการกระจายฮาร์มอนิกของกระแสเฉลี่ยเท่ากับ 4.07 เปอร์เซ็นต์ และค่าตัวประกอบกำลังทางด้านอินพุตเท่ากับ 0.99


 บทนำ

การให้ความร้อนแบบเหนี่ยวนำสำหรับกระทะไฟฟ้านั้น ความร้อนจะเกิดขึ้นกับภาชนะโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากการให้ความร้อนแบบขดลวดความร้อน ที่จะถ่ายเทความร้อนจากแผ่นขดลวดไปยังภาชนะ แต่หากจะมีข้อเสียตรงที่ว่า ระบบเหนี่ยวนำความร้อนส่วนใหญ่ที่ผ่านมานั้นจะถูกสร้างขึ้นด้วยวงจรควบคุมที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยาก จากปัญหาที่พบในเรื่องของขนาดและวงจรจึงเป็นประเด็นหลักและเป็นปัญหาที่จะนำมาศึกษาสำหรับโครงงานวิจัยในครั้งนี้ โดยที่ระบบควบคุมจะถูกลดรูปของตัวประมวลผลโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC ทั้งนี้ก็เนื่องจากในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไมคอนโทรลเลอร์นั้นจะมีศักยภาพที่สูงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของขนาดและหน่วยความจำ ความรวดเร็วตลอดจนคำสั่งในการทำงาน และฟังก์ชั่นในการใช้งานที่รองรับคุณสมบัติหลายด้านเช่น การรับค่าสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอลในการรับค่ากระแสและอุณหภูมิในส่วนของวงจรป้องกัน การรองรับการสร้างสัญญาณ CCP การขัดจังหวะการทำงานเนื่องจากสัญญาณภายนอก อีกทั้งยังลดขนาดของวงจรกำลังในส่วนของอุปกรณ์สวิตซ์ โดยใช้สวิตซ์ตัวเดียว เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการสร้างชิ้นงานให้มีราคาที่ถูกลง
        นอกเหนือจากการลดรูปของวงจรควบคุมและประมวลผลการทำงานที่เป็นประเด็นหลักแล้ว การวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพในการให้ความร้อนเพื่อเปรียบเทียบกับเตาหุงต้มแบบขดลวดความร้อน ก็เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากลดการสูญเสียกำลังงานทางไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้งานในครัวเรือนต่างๆที่ใช้กระทะไฟฟ้าในการหุงต้ม แล้วยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความร้อนที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วย

การออกแบบ

ในการดำเนินงานนั้นจะเริ่มจากการจำลองการทำงานของวงจรทั้งในส่วนของวงจรกำลังและวงจรควบคุมการทำงาน  การออกแบบวงจร และการเลือกใช้อุปกรณ์ ทั้งวงจรกำลังและวงจรควบคุมที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการทดสอบการใช้งานและในการสร้างวงจรการทำงานจริง หลักการให้ความร้อนเหนี่ยวนำ[4] จากรูปที่ 1 เมื่อป้อนกระแสสลับความถี่สูงให้กับขดลวดเหนี่ยวนำที่อยู่ใต้ภาชนะหุงต้ม ขดลวดเหนี่ยวนำจะสร้างสนามแม่เหล็กเกี่ยวคล้อง (Magnetic flux) กับภาชนะหุงต้ม ถ้าภาชนะหุงต้มเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นสาร Ferromagnetic สนามแม่เหล็กที่เกี่ยวคล้องกับภาชนะหุงต้มจะทำให้เกิดกระแสไหลวน (Eddy current) ในภาชนะหุงต้มเป็นเส้นทางปิด ทำให้เกิดการสูญเสียเนื่องจากกระแสไหลวน เป็นผลทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ภาชนะหุงต้ม และจะถ่ายเทความร้อนไปยังน้ำที่อยู่ภายในภาชนะหุงต้ม ทำให้น้ำร้อนได้ในที่สุด ความร้อนที่เกิดขึ้นนี้จะไม่มีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างขดลวดเหนี่ยวนำกับภาชนะหุงต้ม ทำให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน มีประสิทธิภาพต่อการทำความร้อนสูง เนื่องจากความร้อนจะเกิดขึ้นกับภาชนะหุงต้มโดยตรง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของขดลวดเหนี่ยวนำและโหลดภาชนะหุงต้มจะมีเส้นแรงแม่เหล็กคล้องผ่านซึ่งกันและกัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหม้อแปลง

การจำลองการทำงานของวงจรกำลัง

ในการจำลองการทำงานของวงจรกำลังนั้นได้ใช้โปรแกรม PSIM ในการจำลองการทำงาน โดยกำหนดค่าของตัวอุปกรณ์ต่างๆดังตารางที่ 1 ซึ่งค่าต่างๆนั้นก็ได้มาทั้งจากค่าจริงเช่น ค่าแรงดันไฟฟ้าอินพุต และบางค่าก็ได้มาจากการวัดได้แก่ ค่า   , หรือหากไม่มีเครื่องมือวัดก็อาจใช้การคำนวณโดยการต่อวงจรอินเวอร์เตอร์แล้ววัดค่าแรงดันและกระแสมาคำนวณในการหาค่า ในการจำลองควรค่อยๆปรับไปย่านความถี่ที่เหมาะสมตามพิกัดกำลังไฟฟ้าของโครงการวิจัยที่ตั้งไว้
หลังจากที่ทำการจำลองการทำงานเสร็จสิ้นแล้วนั้น จะได้ค่าต่างๆ อันได้แก่ ค่าแรงดันและกระแสอินพุต ค่ากำลังไฟฟ้าอินพุตและค่ากำลังไฟฟ้าเอาท์พุต  ค่าแรงดันที่ตกคร่อมโหลด ค่ากระแสที่ไหลผ่านโหลด ค่าแรงดันตกคร่อมสวิตซ์ และค่ากระแสที่ไหลผ่านสวิตซ์  เมื่อเราทราบค่าเหล่านี้ก็สามารถที่จะนำค่าเหล่านี้ไปเลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆมาใช้ในวงจรที่จะประกอบขึ้นจริงต่อไป
วงจรอินเวอร์เตอร์สร้างไฟฟ้ากระแสสลับความถี่สูง

การออกแบบและสร้างวงจรกำลัง

ในส่วนของวงจรกำลังมีส่วนประกอบวงจรต่างๆมากมาย ตั้งแต่ในส่วนของวงจรเรียงกระแส วงจรกรองสัญญาณ วงจรอินเวอร์เตอร์และในส่วนของโหลดที่ใช้งาน ดังนั้นจึงขอยกเฉพาะส่วนที่มีความสำคัญที่เป็นโครงสร้างหลักหรือทำหน้าที่หลักในการสับสวิตซ์ความถี่สูงให้เกิดความร้อนขึ้นที่ภาชนะหรือโหลดดังรูปที่ 3 นั่นก็คือวงจรภาคอินเวอร์เตอร์
ในโครงการวิจัยนี้ใช้ไอจีบีทีเป็นอุปกรณ์สวิตช์โดยลักษณะของอินเวอร์เตอร์เป็นแบบกึ่งเรโซแนนท์และโหลดเป็นตัวเหนี่ยวนำกระแสและแรงดันค่อนข้างสูงในการเลือกใช้ไอจีบีทีจึงจำเป็นต้องเลือกพิกัดปลอดภัยและเหมาะสม จากการจำลองการทำงานโดยใช้โปรแกรม Psim จึงเลือกใช้ IGBT  ขนาด 50 A ,1200 V เบอร์  IXYZ120BD30N การใช้งานจริงจะต้องติดตั้งบนแผ่นระบายความร้อนด้วย เพื่อระบายความร้อนให้กับไอจีบีที ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่เกิดจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน 

 
ลักษณะการต่อโหลด
เนื่องจากธรรมชาติของโลหะที่นำมาใช้ทำขดลวดเหนี่ยวนำซึ่งจะทำด้วยทองแดงย่อมจะมีคุณสมบัติในการต้านทานกระแสไฟฟ้าทั้งกระแสตรงและกระแสสลับ สำหรับในเตาหุงต้มเหนี่ยวนำก็คือ กระแสสลับความถี่สูงความต้านทานของขดลวดจะมีค่าความต้านทานต่อกระแสสูงขึ้น ถ้าความถี่สูงขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าค่าความต้านทานทางกระแสสลับ (AC Resistance) จะมีค่าเป็นปฏิภาคโดยตรงกับความถี่ในโครงการวิจัยนี้ได้ออกแบบให้ใช้งานกับภาชนะหุงต้มชนิดก้นแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 18-20 เซนติเมตร ดังนั้นความกว้างของชุดขดลวดจึงต้องมีขนาดใกล้เคียงหรือพอดีกับก้นภาชนะ ขดลวดได้ใช้ขดลวดทองแดงเบอร์ 33 SWG ซึ่งสามารถทนอุณหภูมิสูงสุดได้ 200 องศาเซลเซียส จำนวน 28 เส้น พันตีเกลียวเพื่อชดเชยผลอันเกิดจากสกินเอฟเฟค (Skin Effect ) ที่เกิดขึ้นกับการไหลของกระแสในขดลวดทองแดงขณะทำงานที่ความถี่สูง และมีพื้นที่เพียงพอกับปริมาณกระแสที่ไหลขณะเตาหุงต้มทำงานที่พิกัดสูงสุด (~20)ออกแบบฟอร์มขดลวดเป็นวงกลมดังรูปที่ 4 โดยจุดศูนย์กลางเว้นช่องว่างเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร พันให้ชิดติดกันจากด้านในออกสู่ด้านนอกทั้งหมด 28 ชั้น เคลือบวานิชแล้วอบให้แห้ง

การออกแบบและสร้างวงจรควบคุม

        การออกแบบและสร้างวงจรควบคุมนั้นจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการทำงานของเครื่องให้เป็นไปตามต้องการ เช่น การสร้างสัญญาณขับเกตุ  มีระบบป้องกันต่าง ๆ หรือมีฟังก์ชั่นการทำงานอื่นตามความเหมาะสม ตามโครงการวิจัยนี้วงจรควบคุมมีหน้าที่หลักคือ สร้างสัญญาณควบคุมวงจรกำลัง และตรวจสอบการทำงานของเครื่อง จะเห็นได้ว่าจะประกอบด้วย ส่วนของวงจรช่วย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณกระแส หรือ อุณหภูมิแล้วปรับแต่งสัญญาณให้มีค่าเหมาะสม และส่งให้ไมโครคอนโทรลเลอร์ประมวลผลต่อไป นอกจากนี้ยังมีส่วนของวงจรที่รับค่าต่าง ๆ จากผู้ใช้งานแสดงผล และวงจรขับไอบีจีที เป็นต้น โดยสามารถแยกพิจารณาการออกแบบและสร้างได้เป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

             อุปกรณ์ตรวจจับกระแส (Current Sensor)


ได้ใช้ Current sensor แบบฮอลล์เอฟเฟคต์ ขนาดพิกัด 50A ที่ความถี่สูง 35kHz ต่ออนุกรมเข้ากับกระแสที่ไหลผ่านสวิตซ์ เพื่อใช้ในการเช็คค่ากระแสไม่ให้เกินค่าที่ IGBT จะรับได้ ดังรูปที่ 5 เมื่อกระแสเพิ่มขึ้นค่าค่าแรงดันเอาท์พุตก็จะเปลี่ยนแปลงตามค่าของกระแส แล้วจึงนำแรงดันเอาท์พุตมาเข้าสู่ไมโครคอนโทรลเลอร์ผ่านช่อง แปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอลต่อไป


อุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิ


ใช้เทอร์มิสเตอร์(Thermistor) ดังรูปที่ 6 เป็นความต้านทานเปลี่ยนค่าได้ตามอุณหภูมิแบบลบ คือเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นความต้านทานจะลดลงลักษณะการใช้งานจะนำตัวถังไปแนบกับแผ่นระบายความร้อน โดยโครงสร้างของวงจรเป็นวงจรแบ่งแรงดัน หลักการทำงานของวงจร คือ เมื่ออุณหภูมิจุดที่ตรวจจับเปลี่ยนแปลงจะทำให้เทอร์มิสเตอร์เปลี่ยนค่าความต้านทานไป ดังนั้นจึงทำให้สัญญาณแรงดันเอาท์พุตเปลี่ยนแปลงไปตามค่าของเทอร์มิสเตอร์ด้วย

วงจรควบคุมและประมวลผลการทำงาน

วงจรควบคุมอาศัยไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC เบอร์ PIC16F877 [1][2] เนื่องจากรองรับสัญญาณอนาล็อกได้ถึง 8 ช่องสัญญาณ มีโมดูลสร้างสัญญาณ PWM ให้ใช้งานในการสับสวิตซ์ IGBT อีกทั้งยังเหลือพอร์ตต่างๆให้ต่อใช้งานสวิตซ์สั่งการและแสดงผลการทำงาน อีกด้วย

หน้าปัดเป็นส่วนที่รับคำสั่งต่างๆตามความต้องการของผู้ใช้งาน ที่สามารถเลือกระดับความร้อนได้ 3 ระดับและสามารถตั้งค่าเวลาได้ ในแต่ละส่วนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. สวิตช์ปิด-เปิด                                  
2. ไฟแสดงการทำงานปิด-เปิด
3. ใช้ 7 segment แสดงเวลาที่ตั้งไว้ตั้งแต่ 0-99 นาที
4.สวิตช์เพิ่มค่าเวลา
5. สวิตช์ลดค่าเวลา
6.ไฟแสดงการตั้งเวลา
7. ไฟแสดงสถานะภาพการหุงต้ม 3ระดับ
8. สวิตซ์เลือกการหุงต้ม 3 ระดับ
ซึ่งจะต้องมีการกำหนดการเขียนโปรแกรมดังนี้
        1)  กำหนดค่าเริ่มต้น เช่น การทำงานของพอร์ต,การทำงานของไทเมอร์แต่ละตัว,สัญญาณ PWM และค่าการหน่วงเวลา, กำหนดลักษณะการขัดจังหวะโปรแกรม (Interrupt) และค่าเริ่มต้นรีจิสเตอร์ต่างๆ เป็นต้น
2) สั่งให้ส่วนแสดงผลทำงาน ซึ่งจะแสดงค่าเริ่มต้นในขณะเปิดเครื่อง
3) ตรวจสอบประเภทภาชนะเตา โดยค่ากระแสที่แปลตามค่าความเหนี่ยวนำนั้นขึ้นมาเก็บไว้ก่อน เพื่อใช้สำหรับคำนวณต่อไป
4) ตรวจสอบลักษณะการหุงต้มขณะเริ่มใช้งาน
5) ตรวจสอบการเริ่มต้นทำงานของเครื่องใช่หรือไม่  ถ้าไม่ใช่จะกลับไปเริ่มขั้นตอนที่ 1 ใหม่เมื่อเครื่องเริ่มต้นทำงาน จะตรวจสอบก่อนว่ามีการตั้งเวลาเกิดขึ้นหรือไม่
6) ตรวจสอบลักษณะการหุงต้มขณะทำงาน,อ่านค่าจาก A/D และนำค่าที่ได้ไปประมวลผลในส่วนของโปรแกรมป้องกัน และการสร้าสัญญาณ PWM ต่อไป
7) ตรวจสอบว่าต้องการหยุดการทำงานของเครื่องใช่หรือไม่ ถ้าใช่จะกลับไปเริ่มขั้นตอนที่1 ถ้าไม่ใช่จะกลับไปทำขั้นตอนที่ 7 ใหม่เรื่อย
8) โปรแกรมที่มีการขัดจังหวะโปรแกรมหลัก(Interrupt Program) หลักการของโปรแกรมนี้คือตัวโปรแกรมจะเข้ามาแทรกทำงานในทุกๆที่ของโปรแกรมหลัก โดยการร้องขอของอุปกรณ์ที่อนุญาตให้สามารถส่งสัญญาณเข้ามาขัดจังหวะของโปรแกรมหลักได้ ดังนั้น โปรแกรมที่มีการทำงานแบบนี้จะมีความรวดเร็วในการทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาในการทำขั้นตอนอื่นๆให้เสร็จก่อน 
บอร์ดโปรแกรม PROPIC USB 1.0

การโปรแกรมไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC

ใช้ภาษาซีโดยเขียนผ่านโปรแกรม CCS ‘C’ Compiler ทำการแปลงเป็นไฟล์นามสกุล .hex (Compile) จากนั้นก็จำลองการทำงานโดยใช้โปรแกรม Proteus ดึงไฟล์ .hex มาจำลองการทำงานแล้วใช้โปรแกรม Pickit 2 ที่ใช้คู่กับบอร์ด PROPIC USB 1.0 เพื่อนำไปป้อนให้กับไมโครคอนโทรลเลอร์ต่อไป ซึ่งการสร้างบอร์ดโปรแกรมในส่วน PropicUSB 1.0 นี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่http://www.thaimicrotron.com/ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมาก สำหรับผู้ที่ต้องการเจาะลึกลงในตัวรายละเอียดให้มากกว่านี้

การทดสอบ

วิธีการทดสอบโดยการค่อยๆปรับแรงดันทางด้านอินพุตจากค่าน้อยๆเพิ่มขึ้นจนถึง 220 Vrms ให้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้า จะพบว่าแรงดันที่ตกคร่อม IGBT มีค่าสูงมาก ที่ 1000 V ซึ่งพิกัดทนแรงดันของ IGBT สามารถทนได้เพียง 1200 V
การทดสอบปรับค่าดิวตี้ไซเคิลและความถี่หลายๆค่า เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้าที่ต้องการอีกทั้งแรงดันและกระแสที่เหมาะสม ที่ความถี่ 22.73 kHz จะได้ผลการทดลองดังรูปที่ 9, 10 และ 11 คือได้กำลังไฟฟ้าอินพุตเท่ากับ 1.12 กิโลวัตต์ แรงดันตกคร่อมสวิตซ์เท่ากับ 1000 โวลต์ กระแสไหลผ่านสวิตซ์เท่ากับ 5.451 แอมป์ และค่าการกระจายฮาร์มอนิกส์ของกระแสมีค่าเท่ากับ 4.2 %
นอกจากนี้ได้ทำการปรับค่าความถี่และดิวตี้ไซเคิลเพื่อปรับค่ากำลังไฟฟ้าให้เหมาะสมเพื่อกำหนดความร้อนของน้ำที่ใช้ทดสอบในการต้ม โดยกำหนดไว้ 3 ระดับ คือ อุ่น เดือด และเดือดมาก ซึ่งความถี่ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างในการทดลองคือ ที่ความถี่เท่ากับ 31.65 kHz ได้ค่ากำลังไฟฟ้าอินพุตเท่ากับ 820 วัตต์ แรงดันตกคร่อมสวิตซ์เท่ากับ 840 โวลต์ กระแสที่ไหลผ่านสวิตซ์เท่ากับ 6.916 แอมป์และค่าการกระจายฮาร์มอนิกส์ของกระแสมีค่าเท่ากับ 3.9 % แสดงดังรูปที่ 12, 13 และ 14 การหาค่ากำลังไฟฟ้าทางด้านเอาท์พุตเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำสามารถหาได้จาก 

สรุปผลการทดสอบ

จากปัญหาที่ตั้งไว้ในส่วนของการลดรูปวงจรโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC แทนนั้น สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งในส่วนการสร้างสัญญาณ CCP การแสดงผลการทำงาน การรับค่าจากสวิตซ์ รวมถึงผ่านการทดสอบวงจรป้องกันกระแสเกินและอุณหภูมิที่สูงเกิน อีกทั้งวงจรแสดงผลการทำงานก็สามารถทำงานได้ดี เนื่องจากว่า ไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC นั้นมีคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นคือ รวมคุณสมบัติต่างๆ ไว้ภายในตัวเดียวกัน
ที่ความถี่ 29.94 kHz จะใช้เวลาในการต้มน้ำให้เดือดเร็วที่สุดที่ 5 นาที  ดังรูปที่ 14 ประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของเตาหุงต้มเหนี่ยวนำความร้อนที่พิกัด 1.13 กิโลวัตต์ จะได้กำลังเอาท์พุตรวมเท่ากับ 0.906 กิโลวัตต์ ดังนั้นประสิทธิภาพรวมเท่ากับ 80.18% ดังสมการที่ 1 และ และเมื่อเปรียบเทียบกับขดลวดความร้อนนั้นพบว่าขดลวดใช้เวลาถึง 8 นาที 20 วินาทีจะได้กำลังเอาท์พุตเท่ากับ 0.543 กิโลวัตต์ ประสิทธิภาพรวมเท่ากับ 54.34%  นั่นหมายถึงว่าประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของขดลวดเหนี่ยวนำดีกว่าประสิทธิภาพการให้ความร้อนของขดลวดความร้อน
        ค่าผลรวมการกระจายฮาร์โมนิกของกระแสที่ได้จากผลการทดลองนี้สูงสุดอยู่ที่ 4.5และค่าการกระจายฮาร์โมนิกของกระแสเฉลี่ยอยู่ที่ 4.07%

ข้อเสนอแนะ

ควรปรับปรุงแรงดันที่ตกคร่อมสวิตซ์ให้ลดลง เพื่อที่จะปรับกำลังไฟฟ้าทางด้านเอาท์พุตให้มีย่านที่ใช้งานมากขึ้น และเป็นการลดกำลังของสวิตซ์ลง
ในการทดลองควรระมัดระวังและควรที่จะมีอุปกรณ์ป้องกัน หากเกิดการทำงานที่ผิดพลาด เนื่องจากแรงดันไฟฟ้าและกระแสค่อนข้างสูง
สนามแม่เหล็กของเตาหุงต้มเหนี่ยวนำความร้อน มีผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้เครื่องควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อเข้าใกล้


กิตติกรรมประกาศ


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยธนบุรี และเอื้อเฟื้อสถานที่ในการทำโครงการวิจัยตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆจนสำเร็จเป็นโครงการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์ได้
ต้องขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงอื่นๆ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ ณ ที่นี้ เนื่องจากจะต้องกระซับเนื้อหาที่มีขีดข้อจำกัด ทางทีมงานผู้จัดทำงานวิจัย ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้
ขอขอบคุณอาจารย์ ณรงชัย ทศพรและอาจารย์จิรศักดิ์ ส่งบุญแก้ว ที่คอยให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางมาโดยตลอด


เอกสารอ้างอิง

[1] ดอนสัน ปงผาบ และ ทิพวัลย์ คำน้ำนอง,2550.ไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC และการประยุกต์ใช้งาน. กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทยญี่ปุ่น)
[2] ประจิน พลังสันติกุล, 2551. All about CCS C (PIC C programming with CCS C compiler). กรุงเทพฯ : บริษัทแอพซอฟต์เทคจำกัด
[3] ศมิทธิ์ เอมสมบัติ, ( PICKit2 Lite )  เครื่องโปรแกรม MCU-PIC ผ่านทางพอร์ต USB
โดยใช้ connector แบบ ICD2 ตามมาตรฐาน Microchip.<http://www.thaimicrotron.com/PROPIC/USB1/Main.htm>
 [4] สิทธิโชค สินรัตน์, 2545.การวิเคราะห์เตาหุงต้มเหนี่ยวนำความถี่สูงชนิดควบคุมกำลังไฟฟ้า ด้วยความถี่. วิทยานิพนธ์ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.       
[5] จีระศักดิ์ วงศา,2555. เตาหุงต้มเหนี่ยวนำความร้อนแบบสวิตซ์เดี่ยวควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล PIC. การประชุมวิชาการระดับชาติ เบญจมิตรวิชาการ ครั้งที่ 2. สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยธนบุรี 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น